ก๊าซเรือนกระจก 1

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทั่วโลกประสบอยู่เป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) หรือเรียกย่อๆ ว่า GHG คือก๊าซในบรรยากาศของโลกที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดร้อนออกมา โดยบางส่วนจะออกสู่ห้วงอวกาศ แต่บางส่วนก็จะสะท้อนความร้อนจากชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นผิวโลก ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้การเกิดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์

ชนิดของ ก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัด และในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

มีก๊าซจำนวนมากที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต มีเพียง 7 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic greenhouse gas emission) เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ทั้งนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว

กิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ กำลังเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ (อาจยกเว้นไอน้ำ) การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยก๊าซโอโซน นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมปล่อยสารฮาโลคาร์บอน (CFCs, HFCs, PFCs)

สถานการณ์ ก๊าซเรือนกระจก และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาค

แนวโน้มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ปริมาณฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูแล้ง และจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น คลื่นความร้อนความแห้งแล้ง น้ำท่วม พายุหมุน และไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 5 (The Fifth Assessment Report: AR5) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) มีข้อค้นพบที่ชัดเจนว่าบทบาทและกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ จำนวนประชากร กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ วิถีการดำเนินชีวิตการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เทคโนโลยี และนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิอากาศของ IPCC ในอีกกว่า 100 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556–2643) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.1–6.4 องศาเซลเซียส ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ และคลื่นความร้อนจะเกิดถี่มากขึ้นและระยะเวลายาวนานขึ้น ความรุนแรงของการเย็นลงของอุณหภูมิในฤดูหนาวเป็นครั้งคราวและต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมามีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายภูมิภาคแต่ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน และค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีระดับความเสี่ยงและความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีอุณหภูมิเฉลี่ยในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น 4.8 องศาเซลเซียส ในอีก 100 ปีข้างหน้า ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดโต่ง เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง อุทกภัย และพายุโซโคลน เนื่องจากมีพื้นที่แนวชายฝั่งยาว มีการกระจุกตัวของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามพื้นที่ชายฝั่ง และมีสภาพเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้

การดำเนินการในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

แนวทางการดำเนินมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องใช้เทคโนโลยี กลไกเศรษฐศาสตร์ สังคม และสถาบัน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงกลไกต่างๆ และการดำเนินการรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากเวทีการเจรจาระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference : UNFCCC) โดยผลการเจรจากำหนดข้อตกลงที่สำคัญจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties 21 : COP21) ได้มีการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผู้แทน 195 ประเทศ ให้ความเห็นชอบและร่วมในพิธีลงนามความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความร่วมมือระยะยาวของประชาคมโลก ในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการในการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้อยู่ในระดับปลอดภัย จึงมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นด้วยพิธีสารเกียวโต ในการกำหนดให้รัฐภาคีที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551–2555) ขั้นต่ำ ร้อยละ 5 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 สำหรับประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมมือในการดำเนินการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศและสามารถขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้หรือคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วนำไปใช้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้มีการกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556–2563) อย่างน้อยร้อยละ 18 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 ซึ่งการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2559. รายงานสรุปการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย)

สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของไทยก๊าซเรือนกระจก 2

ประเทศไทยมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมการพัฒนาประเทศจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2554 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และจากการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยมีสูงถึง 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2573 โดยภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน รองลงมาคือ ภาคเกษตร กระบวนการทางอุตสาหกรรม และของเสีย (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2559)

ประกอบกับการจัดลำดับขององค์กร Germanwatch ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 10 ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559–2578) ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น และจำนวนวันฝนตกในช่วงฤดูฝนและการกระจายตัวของฝนเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการจัดการน้ำของประเทศในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเกษตร และภาคเมือง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวกรองสหรัฐฯ จับตา รัสเซีย-จีน ฉวยโอกาสทรัมป์โดนฟ้อง

ระทึก แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7 เขย่าอินโดนีเซีย

ธนาคารสหรัฐ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย เพิ่มอีก 0.75%

Where to travel asia Kind Mid Spirit

สามารถติดตามบทความอื่นๆได้ที่ https://www.stickandtube.com/

สนับสนุนโดย  ufabet369

ที่มา www.tgo.or.th